Powered By Blogger

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การคลอดลูกโค


การทำคลอดนั้นเรามุ่งหวังให้สัตว์ที่เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กระบวนการคลอดลูกจึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณสัตว์ที่เลี้ยงอีกประการหนึ่งโคนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่ดูแลเมื่อเวลาคลอดลูกเพราะมักจะมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การคลอดยาก และแม่โคไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ลูกโคหรือทั้งแม่และลูกโคตายได้ ทำให้เกิดการสูญเสียกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าเราทราบกระบวนการคลอดลูกของแม่โคลักษณะท่าทางของลูกที่คลอดออกมา จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือทั้งแม่และลูกโคได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่แม่โคมีปัญหาในการคลอด เราสามารถช่วยได้ทันท่วงที
การคลอดลูกในโค
การคลอดลูกในโคคือการที่แม่โคขับลูกออกมาจากมดลูก เมื่อครบกำหนดของระยะเวลาการตั้งท้อง (ประมาณ 280 วัน) โดยที่ลูกจะถูกขับออกมาทางช่องคลอดของแม่โคในโคแบ่งการคลอดลูกออกเป็น            2 ลักษณะ คือ
1.การคลอดง่ายหรือการคลอดตามปกติ  การคลอดแบบนี้เป็นไปตามธรรมชาติ แม่โคสามารถคลอดลูกออกมาเองโดยไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด เมื่อโคตั้งท้องมาได้ประมาณ 280 วัน ก็จะครบกําหนดคลอด
2 การคลอดยากหรือการคลอดลำบาก    การคลอดยากหรือการคลอดลำบากเป็นการคลอดที่เนิ่นนานกว่าปกติ จนกระทั่งแม่โคไม่สามารถคลอดเองได้ตามธรรมชาติ ต้องได้รับการช่วยเหลือ ประมาณร้อยละ 5 พบว่าการคลอดยากเกิดในโคนมมากกว่าโคเนื้อ และพบในโคสาวมากกว่าโคที่เคยมีลูกมาแล้ว ถ้าแม่โคคลอดลูกไม่ได้ตามกำหนด ต้องรีบให้ความช่วยเหลือทันที มิฉะนั้นแม่โคและลูกโคอาจจะตายซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจของการปศุสัตว์เป็นอย่างมาก เพราะแทนที่จะมีจำนวนโคเพิ่มมากขึ้น แต่กลับลดน้อยลงซึ่งกว่าจะได้ลูกโคเพิ่มขึ้นตัวหนึ่ง ๆ จะต้องใช้เวลาเลี้ยงนานนับปี
ขั้นตอนวิธีการช่วยเหลือการคลอดยา    มีดังนี้
      1. แก้ไขโดยการจัดท่าทางของลูกให้มาอยู่ในท่าคลอดที่ปกติเสียก่อนดังนี้
                    1) ดันลูกเข้าไปในมดลูก
                    2) หมุนตัวลูก หรือ
                   3 ) กลับตัวลูก หรือ
                    4) เหยียดอวัยวะบางส่วนของลูกโคให้ยืดออกจากนั้นจึงค่อยออกแรงดึงขาลูกโคให้เข้ามาอยู่ในช่องคลอด แล้วปล่อยให้แม่โคเบ่งคลอดลูกออกมาเอง
ถ้าหากทำวิธีนี้แล้วยังไม่ประสพผลสำเร็จ ก็ต้องใช้วิธีต่อไป
      2. ใช้เชือกหรือโซ่ผูกขาหน้าทั้งสองข้าง (ผูกทีละข้าง) แล้วออกแรงดึงลูกให้ออกมาตามจังหวะแรงเบ่งของแม่โค (ใช้คนช่วยดึงข้างละ 1 คน) ถ้ายังไม่ประสพผลสำเร็จอีกก็ทำวิธีอื่นต่อไป
      3. ในกรณีที่เราตรวจพบว่าลูกโคยังมีชีวิตอยู่ เราควรทำการผ่าท้องเอาลูกออก (ควรให้ สัตวแพทย์เป็นผู้กระทำ)
      4. ในกรณีที่ตรวจพบว่าลูกโคตายอยู่ในท้องแล้วเราสามารถแก้ไขได้โดยใช้เครื่องมือชนิดพิเศษสอดเข้าไปในมดลูกแล้วตัดย่อยเอาส่วนของลูกออกมาทีละชิ้น ๆ จนสามารถที่จะนำลูกโคออกมาได้ วิธีนี้เรียกว่า วิธีตัดย่อยลูกโค (ควรให้สัตวแพทย์เป็นผู้กระทำ)

การจัดการโคนม



1. การเลี้ยงดูลูกโค
         ก่อนที่จะพูดถึงการเลี้ยงลูกโค ควรจะทำความรู้รู้จักกับนมน้ำเหลืองก่อน นมน้ำเหลือง คือน้ำนมที่ผลิต ออกมาจากแม่โคในระยะแรกคลอดจะผลิตออกมานานประมาณ 2-5 วัน ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นนมธรรมดา ลักษณะของนมน้ำเหลืองจะมีสีขาวปนเหลือง มีรสขม มีคุณสมบัติคือ จะมีภูมิคุ้มโรค อีกทั้งช่วยป้องกันโรคที่ เกิดกับระบบลำไส้และผิวหนังและยังเป็นยาระบายท้องอ่อน ๆ ของลูกโคได้อีกด้วย มีคุณค่าทางอาหารสูงเมื่อ ลูกโคคลอดมาใหม่ ๆ ควรแยกลูกโคออกจากแม่โคทันที และควรจะให้กินนมน้ำเหลืองจากแม่โคภายใน 6 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงโดยเร็ว ลูกโคควรได้กินนมน้ำเหลืองราว 2-5 วัน ให้กินวันละ 2 เวลา เช้า, เย็น
2. การเลี้ยงโครุ่น (5-7 เดือน)
         ลูกโคหลังหย่านม อายุประมาณ 5-7 เดือนขึ้นไปนำมาเลี้ยงในคอกรวม ตัดหญ้าให้กิน
หรือปล่อยแปลงรวม การเลี้ยงโครุ่นนั้นจะต้องมีแร่ธาตุตั้งให้กินตลอดเวลา และจะต้องคอยดูแลให้มีสุขภาพสมบูรณ์ ทำการกำจัดเห็บ ถ่ายพยาธิ เมื่อโครุ่นอายุ 16 เดือนขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตัวประมาณ 250 กิโลกรัม ก็จะทำการผสมเทียมได้  สำหรับการให้อาหารข้นให้คำนึงถึงอาหารหลักของโค คือ หญ้าเป็นประการสำคัญหากมีหญ้าที่มีคุณภาพดีอย่างเพียงพอก็จะให้อาหารข้นเสริมเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ วันละ 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้าอาหารหยาบคุณภาพต่ำ ปริมาณไม่เพียงพอต้องเสริมเข้าไป โดยดูจากสุขภาพโคว่าสมบูรณ์ มีการเจริญเติบโตปกติ หรือผอมแคระแกร็นอย่างไร ก็ให้เพิ่มหรือลดอาหารข้นลงตามสัดส่วน สูตรอาหารข้นในช่วงนี้ควรมีโปรตีนระหว่าง 14-15 % ซึ่งจะมีราคาไม่แพงมากนัก

3. การเลี้ยงโคสาว (อายุ 15 เดือน-ตั้งท้อง)
              เมื่อโคเจริญเต็มที่ อายุประมาณ 15-18 เดือน ควรจะมีน้ำหนักประมาณ 250-280 กิโลกรัม (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์) ก็จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ให้ตั้งท้อง การให้อาหารโคสาวในช่วงนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้โคมีความสมบูรณ์ ได้ขนาดตามที่กำหนด ถ้าโคแคระแกร็น อายุเกิน 18 เดือน แต่น้ำหนักยังน้อยไม่ถึงเกณฑ์เฉลี่ย จะทำให้มีปัญหาในเรื่องการผสมพันธุ์ อาจจะไม่แสดงอาการเป็นสัดให้เห็นชัดเจน หรือผสมติดยาก ดังนั้นควรให้โคได้รับอาหารหยาบ (หญ้า) ที่มีคุณภาพดีอย่างเพียงพอ และเสริมด้วยอาหารข้น อาหารข้นสำหรับโครุ่น-โคสาว โปรตีน 14-15 % ประมาณวันละ 2-3 กิโลกรัม ขึ้นกับคุณภาพหญ้า นอกจากนี้ยังต้องมีแร่ธาตุ และน้ำให้กินอย่างเพียงพอตลอดเวลา

4. การเลี้ยงแม่โครีดนม
             การให้อาหารแม่โครีดนมนั้น โดยทั่วไปแม่โคเริ่มคลอดใหม่จะให้กินอาหารเต็มที่ ทั้งอาหารหยาบ(หญ้า) และอาหารข้นซึ่งเป็นอาหารสำหรับโครีดนมโดยเฉพาะ โปรตีน 16-18 % อาหารเหล่านี้จะเข้าไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีสุขภาพสมบูรณ์ และให้ผลผลิตน้ำนมเต็มที่ จนกระทั่งให้ผลผลิตน้ำนมสูงสุด คือ ประมาณ 2 เดือนหลังคลอด จากนั้นปริมาณน้ำนมจะลดลงจะให้อาหารข้นลดลงด้วย โดยให้อาหารข้น 1 กิโลกรัม ต่อผลผลิตน้ำนม 2 กิโลกรัม ( อัตรานมต่ออาหาร 2 ต่อ 1 ) แต่ถ้าสามารถจัดการด้านแปลงหญ้าให้มีคุณภาพดีและปริมาณเพียงพอแล้ว และปริมาณน้ำนมของแม่โคที่รีดได้ต่อวันไม่เกิน 10 กิโลกรัม ก็จะสามารถลดปริมาณอาหารข้นให้น้อยลงกว่านี้ได้ แม่โครีดนมหลังคลอดลูกประมาณ 45-60 วัน ก็จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ครั้งต่อไป

5. การเลี้ยงแม่โคแห้งนม (โคดราย)
         ตามปกติก่อนคลอดประมาณ 2 เดือน ควรจะทำการหยุดรีดนม เพื่อให้โอกาสแม่โคได้สะสมอาหารให้เพียงพอก่อนการคลอดลูก หากแม่โคมีความสมบูรณ์ก่อนคลอดจะทำให้ได้ลูกที่แข็งแรง และให้ผลผลิตน้ำนมได้ดี ฉะนั้นก่อนที่จะหยุดรีดนม ให้สังเกตความสมบูรณ์ของแม่โคว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ ถ้าไม่สมบูรณ์หรือผอมเกินไป ก็ให้เพิ่มอาหารข้น แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มอาหารข้นในช่วงรีดนม แม่โคจะใช้อาหารได้ดีกว่า ดังนั้นจึงควรเลี้ยงแม่โคให้สมบูรณ์และเมื่อหยุดรีดนมจะให้อาหารข้นเสริมเพียงเล็กน้อย โดยให้อาหารหยาบเป็นหลักเพื่อรักษาน้ำหนัก หรือความสมบูรณ์ของแม่โคให้คงที่ เมื่อแม่โคคลอดลูกแล้วจัดการเลี้ยงดูตามวิธีการเลี้ยงดูแม่โคต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น